สำหรับภาคใต้ เป็นภาคที่แอดชอบมาก เนื่องจากภาคใต้เป็นดินแดนแห่งหมู่เกาะและท้องทะเลที่สวยมาก สถานที่ท่องเที่ยวก็งดงาม และยังมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติมากมาย นอกจากนี้ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี วิถีชีวิตของชาวใต้ยังโดดเด่นมีเอกลักษณ์ ชวนให้เข้าไปสัมผัสและเรียนรู้อย่างใกล้ชิด ในแต่ละปีภาคใต้จะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวกันมากมาย วันนี้เรามาทำความรู้จักกับภาคใต้ให้มากขึ้น
ภาคใต้มีกี่จังหวัด
ภาคใต้ มีทั้งหมด 14 จังหวัด ดังนี้
- กระบี่
- ชุมพร
- ตรัง
- นครศรีธรรมราช
- นราธิวาส
- ปัตตานี
- พังงา
8. พัทลุง
9. ภูเก็ต
10. ยะลา
11. ระนอง
12. สงขลา
13. สตูล
14. สุราษฎร์ธานี
วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้
วัฒนธรรมในท้องถิ่นของภาคใต้ แบ่งออกได้ ดังนี้
1.วัฒนธรรมทางภาษาถิ่น
ภาคใต้มีภาษาพูดประจำถิ่นที่ห้วน ๆ สั้น ๆ เป็นเอกลักษณ์ เรียกว่า “ภาษาใต้หรือแหลงใต้” ส่วนกลุ่มคนที่อยู่แถบชายแดนไทย-มาเลเซีย นิยมพูด ภาษายาวีหรือภาษามาเลเซีย ตัวอย่างภาษาพูดภาคใต้เช่น แหลง(พูด) หร๋อย(อร่อย) หวังเหวิด(เป็นห่วง) บางท้องถิ่นใช้ภาษายาวีเพราะนับถือศาสนาอิสลาม
2.วัฒนธรรมการแต่งกาย
ประชาชนในภาคนี้มีการแต่งกายต่างกันตามเชื้อชาติ ทำให้การใช้วัสดุและรูปแบบมีเอกลักษณ์ไปตามเชื้อชาติ ถ้าเชื้อสายจีนจะแต่งแบบจีน ถ้าเป็นชาวมุสลิม ก็จะแต่งคล้ายกับชาวมาเลเซีย
- กลุ่มเชื้อสายจีน-มลายู เรียกชนกลุ่มนี้ว่ายะหยา หรือ ยอนย่า เป็นกลุ่มชาวจีน เชื้อสายฮกเกี้ยนที่มาสมรสกับชนพื้นเมืองเชื้อสายมลายู ชาวยะหยาจึงมีการแต่งกายอันสวยงามที่ผสมผสานรูปแบบของชาวจีนและมลายูเข้าด้วยกันอย่างงดงาม ฝ่ายหญิงใส่เสื้อฉลุลายดอกไม้ รอบคอ, เอว และปลายแขนอย่างงดงาม นิยมนุ่งผ้าซิ่นปาเต๊ะ ฝ่ายชายยังคงแต่งกาย คล้ายรูปแบบจีนดั้งเดิมอยู่
- กลุ่มชาวไทยมุสลิม ชนดั้งเดิมของดินแดนนี้นับถือศาสนาอิสลาม และมีเชื้อสายมลายู ยังคงแต่งกายตามประเพณี อันเก่าแก่ฝ่ายหญิงมีผ้าคลุมศีรษะ ใส่เสื้อผ้ามัสลิน หรือลูกไม้ตัวยาวแบบมลายูนุ่งซิ่นปาเต๊ะหรือซิ่นทอแบบมลายู ฝ่ายชายใส่เสื้อคอตั้ง สวมกางเกงขายาว และมีผ้าโสร่งผืนสั้น ที่เรียกว่า ผ้าซองเก็ต พันรอบเอวถ้าอยู่ บ้านหรือลำลองจะใส่โสร่ง ลายตารางทอด้วยฝ้าย และสวมหมวกถัก หรือเย็บด้วยผ้ากำมะหยี่
- กลุ่มชาวไทยพุทธ ชนพื้นบ้าน แต่งกายคล้ายชาวไทยภาคกลาง ฝ่ายหญิงนิยมนุ่งโจงกระเบน หรือผ้าซิ่นด้วย ผ้ายกอันสวยงาม ใส่เสื้อสีอ่อนคอกลม แขนสามส่วน ส่วนฝ่ายชายนุ่งกางเกงชาวเล หรือ โจงกระเบนเช่นกัน สวมเสื้อผ้าฝ้ายและมีผ้าขาวม้าผูกเอวหรือพาดบ่าเวลาออกนอกบ้านหรือไปงานพิธีกลับหน้า
3.วัฒนธรรมการกิน
อาหารพื้นบ้านภาคใต้มีรสชาติโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก ๆ สืบเนื่องจากดินแดนภาคใต้เคยเป็นศูนย์กลางการเดินเรือค้าขายของพ่อค้าจากอินเดีย จีนและชวาในอดีต ทำให้วัฒนธรรมของชาวต่างชาติโดยเฉพาะอินเดียใต้ ซึ่งเป็นต้นตำรับในการใช้เครื่องเทศปรุงอาหารได้เข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก อาหารพื้นบ้านภาคใต้ทั่วไป มีลักษณะผสมผสานระหว่างอาหารไทยพื้นบ้านกับอาหารอินเดียใต้ เช่น น้ำบูดู ซึ่งได้มาจากการหมักปลาทะเลสดผสมกับเม็ดเกลือ และมีความคล้ายคลึงกับอาหารมาเลเซีย อาหารของภาคใต้จึงมีรสเผ็ดมากกว่าภาคอื่น ๆ และด้วยสภาพภูมิศาสตร์อยู่ติดทะเลทั้งสองด้าน มีอาหารทะเลอุดมสมบูรณ์ แต่สภาพอากาศร้อนชื้น ฝนตกตลอดปี อาหารประเภทแกงและเครื่องจิ้มจึงมีรสจัด ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ป้องกันการเจ็บป่วยได้อีกด้วย
4.วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อ
ความเชื่อของชาวไทยในภาคใต้ จำแนกตามมูลฐานที่เกิดได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ คือ
- ความเชื่อที่เกี่ยวกับลัทธิและศาสนา ความเชื่อกลุ่มนี้แตกต่างกันไปตามชนกลุ่มน้อย และศาสนาชนกลุ่มน้อยในภาคใต้มี 2 กลุ่ม คือ ชาวเลหรือชาวน้ำ(ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตก) และพวกซาไก(มีเหลืออยู่น้อย เช่น ในเขตจังหวัดยะลา) ความเชื่อของชน 2 กลุ่มนี้ เด่นในเรื่องผี วิญญาณ และอำนาจเหนือธรรมชาติ ส่วนความเชื่อที่สืบเนื่องจากศาสนาจำแนกเป็นกลุ่มไทยพุทธ ไทยมุสลิม และชาวจีน เช่น ชาวจีนในจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น ความเชื่อส่วนหนึ่งถือตามศาสนาบัญญัติ ส่วนหนึ่งเกิดจากประเพณีที่เกี่ยวกับศาสนา และการแปลความบุคลาธิษฐานเป็นรูปของคติความเชื่อซึ่งมักนำไปประสมประสานกับลัทธินิยมดั้งเดิม
- ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ความเชื่อกลุ่มนี้เกิดจากความเชื่อมั่นต่อความเชื่อกลุ่มแรก ถือว่าชีวิตอยู่ใต้อำนาจของสิ่งเหนือธรรมชาติหรือบุญญาธิการของพระศาสดาและทวยเทพทั้งปวง และถ้าผู้ใดสามารถยึดมั่นในสิ่งเหล่านั้นก็ดี หรือเพียรบำเพ็ญจนอำนาจเหล่านั้นมีขึ้นในตัวตนก็ดี จะทำให้ตนมีคุณวิเศษเหนือคนสามัญ พวกนี้จึงเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ เวทมนตร์คาถา เครื่องรางของขลังและโชคลาง แล้วมักดึงเอาศาสนาเข้ามาผสมผสาน มีอิทธิพลของลัทธิศาสนาพราหมณ์และลัทธินิยมดั้งเดิมผสมอยู่เป็นอันมาก
- ความเชื่อที่เกี่ยวกับจริยาวัตร ความเชื่อกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เกิดแต่อุบายที่จะอบรมสั่งสอนให้ผู้ที่อยู่ในความรับผิดชอบ มีความประพฤติหรือกิริยาที่ควรประพฤติสอดคล้องกับค่านิยมของสังคมนั้น ๆ ซึ่งมีสภาวะทางธรรมชาติและปทัสถานของสังคมนั้น ๆ เป็นเครื่องกำหนด มีการปลูกฝังให้เชื่อตามให้ปฏิบัติตาม มักนำเอาคุณและโทษที่อยู่เหนือวิสัยธรรมชาติมาอ้างเพื่อไม่ให้ฝ่าฝืนหรือละเลย
- ความเชื่อที่เกี่ยวกับยากลางบ้านและการปัดเป่ารักษาไข้ ความเชื่อกลุ่มนี้เกิดแต่ความจำเป็นในการดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอดและปลอดภัยของชีวิต เพื่อบำบัดปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ ความเชื่อส่วนหนึ่งได้จากประสบการณ์ที่สะสมสืบต่อกันมา ซึ่งมีลักษณะของการคลาดเคลื่อนไขว้เขวเป็นธรรมชาติในตัวของมันเอง และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการเดาสุ่ม จึงเป็นความเชื่อที่อาจเป็นจริงได้ และที่เกิดสำคัญผิดเพราะผู้รับช่วงปฏิบัติขาดวิธีการและเครื่องช่วยในการพิสูจน์เลือกเฟ้นยากลางบ้าน ส่วนหนึ่งจึงเป็นประเภทสมุนไพร และอีกส่วนหนึ่งเป็นการรักษาปัดเป่าด้วยเวทมนตร์คาถาที่ผู้สืบทอดปรุงแต่งขึ้นเพื่อเสริมสร้างความศรัทธาเชื่อถือในการใช้ยากลางบ้านหรือใช้เฉพาะเวทมนตร์คาถา
ประเพณีของภาคใต้
ภาคใต้ ดินแดนแห่งความหลากหลายทางประเพณีและวัฒนธรรมที่มีความน่าสนใจไม่น้อยไปกว่าภาคอื่น ๆ ของไทย เพราะเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยเสน่ห์มนต์ขลัง ชวนให้น่าขึ้นไปสัมผัสความงดงามเหล่านี้ยิ่งนัก
1.ประเพณีลอยเรือชาวเล
เป็นงานประเพณีเก่าแก่ที่หาดูได้ยากของชาวเลเกาะลันตา งานนี้จัดขึ้นตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 และเดือน 11 โดยกลุ่มชาวเลที่เกาะลันตาและเกาะใกล้เคียง จะมาชุมนุมกันทำพิธีลอยเรือ เพื่อสะเดาะเคราะห์ บริเวณชายหาดใกล้กับบ้านศาลาด่าน มีการร้องรำทำเพลง และการร่ายรำรอบลำเรือด้วยจังหวะและทำนองเพลงรองเง็ง
2.ประเพณีลาซัง
เป็นพิธีกรรมที่กระทำขึ้น เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการประกอบอาชีพชาวนา หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการทำนามาทั้งปี นับว่าเป็นประเพณีปฏิบัติอย่างหนึ่ง ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม ได้เห็นการทำงานร่วมกันของคนในท้องถิ่นที่เปี่ยมไปด้วยความสมัครสมานสามัคคี และที่สำคัญที่สุดคือ ความเป็นยอดแห่งความกตัญญูกตเวที ที่มีต่อพระแม่โพสพซึ่งเป็นเทพแห่งข้าว
3.ประเพณีชิงเปรต
เป็นประเพณีของภาคใต้ที่ทำกันในวันสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีเมืองมนุษย์ 15 วัน โดยมาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวัน “รับเปรต” หรือ วันสารทเล็ก ลูกหลานต้องเตรียมขนมมาเลี้ยงดูให้อิ่มหมีพีมันและฝากกลับเมืองเปรต ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 นั้นคือวัน ” ส่งเปรต ” กลับคืนเมือง เรียกกันว่า วันสารทใหญ่
4.ประเพณีชักพระ
ประเพณีชักพระเป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวใต้ ซึ่งเป็นประเพณีทำบุญในวันออกพรรษา ซึ่งตรงกับ วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ซึ่งเชื่อกันว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้า เสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา เมื่อครบพรรษาจึงเสด็จมายังโลกมนุษย์ พุทธศาสนิกชนจึงมารอรับเสด็จ แล้วอัญเชิญพระพุทธ เจ้าขึ้นประทับบน บุษบกแล้วแห่ไปรอบเมือง
5.ประเพณีแห่พระแข่งเรือ
มีในหลายจังหวัดของภาคใต้ เป็นประเพณีเนื่องในพุทธศาสนา มีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หลังวันออกพรรษา 1 วัน (ราวเดือนตุลาคม) สำหรับประเพณีแห่พระแข่งเรือของอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพรถือเป็นงานใหญ่ประจำจังหวัดชุมพร สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ว่ากันว่าในยุคนั้นเศรษฐกิจสยามรุ่งเรือง มีการสร้างวัดวาอารามมากมายหลายวัด จึงน่าเป็นที่มาของการเกิดประเพณีแห่พระหรือชักพระ หรือลากพระ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ฤดูน้ำหลาก ผู้คนว่างเว้นจากช่วงเวลาเพาะปลูก
วันนี้เราได้ยกตัวอย่างประเพณีภาคใต้มาพอคร่าว ๆ ยังมีประเพณีอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากให้ทุกคนได้ไปสัมผัส บอกเลยว่านอกจากความเป็นอยู่ วิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก ๆ ใครเคยไปสัมผัสกับบรรยากาศในประเพณีต่าง ๆ ในภาคใต้มาแล้ว อย่าลืมคอมเม้นต์รีวิวกันด้วยน๊าาา