นิทานพื้นบ้านภาคใต้

นิทานพื้นบ้านภาคใต้ หมายถึง เรื่องเล่าสืบทอดกันมาช้านาน ชาวบ้านเล่าด้วยภาษาร้อยแก้ว ออกเสียงเป็นภาษาถิ่นใต้

ว่ากันด้วยเรื่องนิทานพื้นบ้าน ในแต่ละท้องถิ่นหรือแต่ละภาคของประเทศไทยนั้น ก็ต่างมีนิทานพื้นบ้านเป็นของตัวเอง ภาคเหนือ เช่น เรื่องเชียงดาว ภาคกลาง เช่น เรื่องไกรทอง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ภาคอีสาน) เช่น เรื่องก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ และภาคใต้ เช่น เรื่องตากใบ เป็นต้น ซึ่งนิทานพื้นบ้านจะแสดงถึงความเป็นอยู่ของท้องถิ่นนั้น ๆ นั่นเองค่ะ วันนี้เราจะมาพูดถึงนิทานพื้นบ้านภาคใต้กันค่ะ

นิทานพื้นบ้านภาคใต้ หมายถึง เรื่องเล่าสืบทอดกันมาช้านาน ชาวบ้านเล่าด้วยภาษาร้อยแก้ว ออกเสียงเป็นภาษาถิ่นใต้ นิทานพื้นบ้านภาคใต้ที่พบมาก คือ นิทานคติสอนใจ นิทานอธิบายเหตุผล นิทานมุขตลก นิทานเรื่องผี เป็นต้น

นิทานคติสอนใจ

นิทานคติสอนใจ
นิทานคติสอนใจ

เนื้อหาจะมุ่งสอนผู้ฟังให้เป็นคนดี มีคุณธรรม ขณะเดียวกันให้ความรู้สึกเพลิดเพลิน เช่น เล่าเรื่องผลกรรมของผู้อกตัญญู โดยยกตัวอย่างเกาะแก่ง ภูเขา และถ้ำในภาคใต้ มักเกิดจากตัวละครประพฤติชั่ว เช่น เรื่องเกาะสี่เกาะห้า จังหวัดสงขลา ลูกสาวชาวบ้านเรียกกันว่านางหัวมวย นางแต่งงานกับนายสำเภาชาวจีนที่ร่ำรวย เมื่อนางและสามีมาเยี่ยมบ้าน พ่อแม่สองตายายดีใจไปรับลูกสาวที่ท่าเรือ มีข้าวเม่าเป็นของฝาก เมื่อเห็นพ่อแม่ยากจนขี้ริ้วขี้เหร่นางจึงรังเกียจ รีบบอกสามีถอยเรือออกจากท่าทันที สองตายาเทข้าวเม่าทิ้งที่ริมทะเล ชาวบ้านจึงเรียกดินข้าวเม่ามาจนทุกวันนี้ ในที่สุดฟ้าอาเพศเป็นเหตุให้เรืออับปาง ผู้คนในเรือตายสิ้น และกลายเป็นเกาะแก่งมาจนถึงทุกวันนี้

คติสอนใจดังกล่าว สอนให้อย่าเป็นลูกเนรคุณพ่อแม่ มีนิทานอีกหลายเรื่องทำนองเดียวกัน เช่น เรื่องเกาะพระม่วง อำเภอกันตรัง จังหวัดตรัง เพียงแต่ของฝากเป็นมะม่วงคนละลูก ภายหลังมะม่วงที่ทิ้งไว้งอกเป็นต้นแผ่กิ่งก้านสาขาอยู่ทะเล อีกเรื่องหนึ่ง คือ เกาะปูเลาอาปี ที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ลูกชายกลายเป็นเกาะ เมื่อฤดูมรสุมชาวบ้านได้ยินเสียงกระแสลมดังเป็นเสียงคร่ำครวญของลูกชาย ได้ยินไปถึงแม่ซึ่งเป็นภูเขายะมูตัน ที่อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส

นิทานคติสอนใจมีอีกหลายเรื่อง เช่น สอนให้รู้จักโอบอ้อมอารี รู้จับรับผิดชอบ อ่อนน้อมถ่อมตน รู้รักษามัคคี ฯ ล ฯ

นิทานอธิบายเหตุ

นิทานอธิบายเหตุ
นิทานอธิบายเหตุ

เนื้อหาจะมุ่งให้เหตุผลเชิงจินตนาการ โดยเล่าถึงสาเหตุของสิ่งต่าง ๆ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ในท้องถิ่น ว่ามีที่มาหรือเกิดขึ้นอย่างไร พร้อมกับมีความเพลิดเพลินเป็นหลักจูงใจ เรื่องราวในท้องถิ่นภาคใต้มีนิทานทำนองนี้หลายเรื่อง เช่น มะม่วงหิมพานต์ที่ชาวใต้เรียกลูกยาร่วง หรือชื่ออื่น ๆ อีก ทำไมเมล็ดจึงอยู่นอกผล และทำไมปลาชื่อปลาแก้มช้ำ เป็นต้น

นิทานเรื่อง มะม่วงหิมพานต์ มีอีกหลายสำนวน เช่น กล่าวถึงพระร่วงเสด็จมาภาคใต้ ชาวบ้านถวายผลไม้ดังกล่าว ขณะนั้นเมล็ดยังอยู่ในผล เมื่อพระร่วงเสวยปรากฏว่าพระทนต์โดนเมล็ดแข็ง พระองค์ไม่พอพระทัยจึงสาปแช่งไปว่า “ต่อไปเมล็ดผลไม้นี้จงออกมาอยู่นอกผลตลอดกาล” ผลไม้ต้องคำสาปจึงได้ชื่อว่ายาร่วง เพื่อเป็นที่ระลึกแก่พระร่วงผู้มีวาจาสิทธิ์นั่นเอง

นิทานมุขตลก

นิทานมุขตลก
นิทานมุขตลก

นิทานประเภทนี้มีหลายเรื่อง เช่น ตลกเกี่ยวกับความโง่เขลา ตลกคนพิการ ตลกสัปดน ดังตัวอย่างนิทานตลกแสดงถึงความโง่เขลาแถมสัปดกเรื่อง ตาหลวงโดนหลอก ชาวบ้านเรียกหลวงตาว่า ตาหลวง เรื่องเล่าว่า ตาหลวงรูปหนึ่งมักให้เด็กวัดปลุกก่อนจะไปบิณฑบาตทุกวันจนเด็กวัดพากันเอือมระอา วันหนึ่งตาหลวงบอกเช่นเคยว่า “พอดาวรุ่งขึ้นเทียม (เทียม=เท่ากับ) ปลายตาล มึงปลุกด้วยนะ” เด็กวัดคนหนึ่งคิดแกล้งตาหลวงจึงเอาไต้จุดไฟสว่างไปวัดไว้บนยอดต้นตาล ขณะนั้นประมาณสามนาฬิกา ทุกคนกำลังหลับสนิท เด็กวัดลุกขึ้นปลุกตามคำสั่ง ตาหลวงรีบลุกขึ้นมองเห็นแสงสว่างเหนือยอดตาลนึกว่าดาวรุ่งขึ้นแล้ว จึงรีบคว้าบาตรออกเดิน เดินไปได้เวลานานเห็นบ้านเรือนยังเงียบสงบ ประตูบ้านยังปิดอยู่ ตาหลวงบ่นว่า “ไม่เห็นแจ้งสักที” คือยังไม่สว่างเลย จึงอ้าปากหาวนอน ในที่สุดตัดสินใจเข้าไปนอนใต้ถุนบ้านหลังหนึ่ง พอดีลูกสาวบ้านนั้นลุกขึ้นปัสสาวะลงมาตรงศีรษะตาหลวง ท่านนึกว่าฝนตกและบ่นเป็นภาษาถิ่นใต้ว่า “ฝนไหรเค็มแหละเหม็นพันนี้” (ไหร=อะไร, พันนี้=อย่างนี้)

นิทานมุขตลกของภาคใต้ยังมีอีกหลายประเภท เช่น เรื่องเปาะเน ซึ่งชาวไทยมุสลิมเล่ากันแพร่หลายในจังหวัดชายแดนภาคใต้เปาะเนมีพฤติกรรมขำขันแบบซื่อ ๆ เปิ่น ๆ ไม่ฉลาดแกมโกงอย่างศรีธนญชัยภาคกลาง ดังตัวอย่างตอนหนึ่ง เปาะเนทูนกระบุงข้าวเปลือกจะข้ามลำห้วย เขามองเห็นกิ่งไม้เล็ก ๆ พาดขวางเหมือนสะพาน “มันหักได้ยังไง มดแดงเป็นร้อยเป็นพันเดินสะพานกันเป็นแถว เราเพียงคนเดียวจะกลัวอะไร” พอเท้าเปาะเนสัมผัสสะพานเท่านั้น เขาและกระบุงข้าวเปลือกก็ลิ่วถลาลงเบื้องล่าง

นิทานเรื่องผี

นิทานเรื่องผี
นิทานเรื่องผี

ผีที่ชาวใต้เล่าสู่กันฟัง เช่น เรื่องผีหลังกลวง คือข้างหลังผีตนนี้ลึกโบ๋ มองเห็นอวัยวะภายในน่าเกลียดน่ากลัว อย่างเดียวที่มันกลัวคือกลัวคนโยนเข็มหรือของแหลมคมใส่ด้านหลัง พฤติกรรมเกี่ยวกับผีประเภทนี้มีหลายตอน แต่ละตอนมักเล่าเรื่องถึงชาวบ้านเจอผีหลังกลวงแต่ไม่นึกว่าเป็นผี เพราะด้านหน้าของมันก็เหมือนชาวบ้านทั่วไป

ผีอีกประเภทหนึ่งคือผีสิงตามต้นไม้ เช่น ต้นไม้ไผ่ขาคีม คือต้นไม้ไผ่มีลำต้นแยกเป็นปางเหมือนขาคีม รวมทั้งผีสิงตามต้นไม้บางต้น เช่น ต้นตะเคียน ต้นกล้วยตานี (ชาวใต้เรียกกล้วยพังลา)

สัตว์บางชนิดมีที่มีอายุมากและตัวใหญ่เป็นพิเศษดูน่ากลัว เช่น ช้าง เสือ งู จระเข้ ชาวบ้านเชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ จึงเรียกว่าช้างทวด เสือทวด งูทวด จระเข้ทวด ถือเสมือนผีประเภทหนึ่ง ให้คุณให้โทษได้เช่นกัน

นอกจากนี้มีนิทานประเภทปู่โสมเฝ้าทรัพย์ คือช่วงแรกผีใจดีชอบให้ชาวบ้านยืมข้าวของไปใช้ แต่พอนานเข้าข้าวของที่ยืมไปก็นำมาคืนไม่ครบ ผีโกรธจึงปิดปากถ้ำ หรือประชดโดยการเอาข้าวของไปโยนทิ้งลงทะเล เช่น เรื่องกาโสด จังหวัดยะลา เล่าถึงข้าวของผีจัดเรียงเป็นเก้าแถวหรือเก้าโสด ชาวบ้านออกเสียงเป็นกาโสด หรือเรื่อง ตะลุบัน ซึ่งเป็นชื่อตำบลหนึ่งในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี โดยเล่าถึงผีเอาข้าวของใส่ตะลุ่มจำนวนพัน ๆ ใบ โยนลงทะเลจนหมดสิ้น คำว่าตะลุ่มพัน ภายหลังกลายเป็นเสียง ตะลุบัน

นิทานเรื่องสัตว์

นิทานเรื่องสัตว์
นิทานเรื่องสัตว์

สัตว์ในนิทานภาคใต้มีพฤติกรรมแตกต่างกัน ที่น่าสังเกต เช่น กระต่ายและกระจง มีนิสัยฉลาดและรู้จักปัญหา โดยเฉพาะกระจง ค่อนข้างฉลาดแกมโกง ไม่ยอมเสียเปรียบง่าย ๆ ส่วนสัตว์ประเภทโง่เขลามักถูกหลอก เช่น จระเข้ ควาย งูเหลือม ตัวอย่าง งูเหลือมเคยมีพิษมาก วันหนึ่งชาวบ้านกุข่าวว่างูเหลือมกัดคนไม่ตาย พิษเสื่อม ชาวบ้านจึงฉลองกินเลี้ยงกันใหญ่โต งูเหลือมนึกว่าเป็นความจริงเลยเสียใจและคายพิษลงข้างทาง จนสัตว์บางชนิด เช่น ตะขาบ ตะเข็บ แมงป่อง ไปรับพิษงูเหลือมอีกทอดหนึ่ง

ตัวอย่างเรื่อง กระจงกับจระเข้ กล่าวถึงกระจงจะข้ามฝั่งคลอง แต่ในคลองมีจระเข้จำนวนมากว่ายน้ำไปมา หลาย ๆ ตัวหวังตะครุบกระจงกินเป็นอาหาร แต่กระจงใช้ความฉลาดถามจระเข้ว่า “พวกนายมีจำนวนเท่าไร” จระเข้ตอบว่าเป็นร้อยเป็นพัน แต่กระจงไม่เชื่อจึงขอนับให้แน่นอน กระจงจึงกระโดดบนหลังหรือหัวจระเข้ พร้อมกับนับจำนวนไปตามลำดับ จนสุดท้ายถึงฝั่งคลองตรงกันข้าม ก่อนขึ้นฝั่งกระจงเยาะเย้ยจระเข้ว่า “ขอบคุณที่ช่วยเป็นสะพานให้ข้า”

นิทานพื้นบ้านภาษาใต้นั้นมีหลายประเภทกันเลยใช่มั้ยล่ะคะ ไม่ใช่แค่เล่าถึงความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังเล่าถึงเรื่องหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงอีกด้วย สรุปง่าย ๆ นิทานพื้นบ้านก็คือเรื่องที่เล่าต่อ ๆ กันมาเป็นเวลาหลายพันปี ตั้งแต่รุ่นทวด หรือรุ่นบรรพบุรุษของเรานั่นเอง การเล่าต่อ ๆ กันมา บางครั้งเรื่องเล่าก็จะปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องไปบ้าง ต่างคนต่างก็เล่าไม่เหมือนกัน แต่เนื้อเรื่องนั้นคล้ายกันมาก เพียงใช้ถ้อยคำ หรือคำศัพท์ต่างกันไปนั่นเองค่ะ ถ้าหากเพื่อน ๆ อยากศึกษาภาษาใต้เพิ่มเติม ทางเรามีเว็บไซต์ ภาษาใต้.com และเพจfacebook ภาษาใต้.com ให้เพื่อน ๆ ได้ไปติดตามกันด้วยนะคะ

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *